ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

5 วัยมองต่างอย่างเข้าใจ

          




          ตั้งแต่ที่ยอดผู้ติดเชื้อโรคระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยมีจำนวนสูงมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้บริษัทและหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง ได้สั่งให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้านเป็นหลัก(Work from home) บ้างก็สั่งหยุดกิจการชั่วคราว จนทำให้หลายคนต้องเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัดกลับไปพบหรืออาศัยอยู่กับคนในครอบครัวของตนเอง โดยส่วนใหญ่แล้ว ครอบครัวคนไทยหนึ่งครอบครัวจะมีสมาชิกอยู่ด้วยกันถึง 5 ช่วงวัย(เจนเนอเรชั่น) ซึ่งประกอบด้วย

1. Silent Generation (เกิดในช่วง พ.ศ. 2468-2488)

          ประชากรรุ่นนี้ส่วนใหญ่จะมีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป ถือว่าเป็นผู้ชรา ประชากรกลุ่มนี้มีไม่มากเท่าคนรุ่นอื่น ในสมัยที่คนรุ่นนี้อยู่ช่วงวัยกลางคน พวกเขาได้เติบโตในสมัยยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ดังนั้น ผู้คนจึงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ต้องทำงานหนักในโรงงาน หามรุ่งหามค่ำ คนรุ่นนี้ในปัจจุบันจึงมีเอกลักษณ์ ดังต่อไปนี้
          - มีความเคร่งครัดต่อระเบียบแบบแผนมาก
          - มีความจงรักภักดีต่อประเทศชาติสูง และเคารพกฎหมาย
          - คนกลุ่มนี้เริ่มไม่สามารถดูแลตนเองได้ ต้องมีคนคอยดูแล

2. Baby Boomer (เกิดในช่วง พ.ศ. 2489 – 2507)

          ปัจจุบันนี้ คนยุคเบบี้บูมเมอร์คือคนที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ถือเป็นช่วงวัยเกษียรและเริ่มเตรียมตัวเข้าสู่วัยชรา เอกลักษณ์ของคนกลุ่มนี้คือ
         - มีความอดทนสูง
         - ทุ่มเทให้กับทุกสิ่งที่ตนทำ
         - เป็นเจ้าคนนายคน
         - เป็นคนประหยัด อดออม มีการใช้จ่ายอย่างรอบคอบ
         - มักถูกคนรุ่นหลังมองว่าเป็นพวก "อนุรักษนิยม" เป็นคนที่เคร่งครัดในขนบธรรมเนียมประเพณี คนกลุ่มนี้ถือว่ามีจำนวนมากที่สุดในสังคมปัจจุบัน

3. Generation X (เกิดในช่วง พ.ศ. 2508-2522)

          คนยุคนี้เกิดมาพร้อมในยุคที่โลกมั่งคั่งแล้ว จึงใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย เติบโตมากับการพัฒนาของวิดีโอเกม, คอมพิวเตอร์, สไตล์เพลงแบบฮิปฮอป และอาจทันดูทีวีจอขาวดำด้วย ปัจจุบัน คนยุค Gen-X เป็นคนวัยทำงาน มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ที่เด่นชัดมากก็คือ
          - ชอบอะไรง่าย ๆ ไม่ต้องเป็นทางการ
          - ให้ความสำคัญกับเรื่องความสมดุลระหว่างงานกับครอบครัว (Work–life balance)
          - มีแนวคิดและการทำงานในลักษณะรู้ทุกอย่างทำทุกอย่างได้เพียงลำพังไม่พึ่งพาใคร
          - เป็นตัวของตัวเองสูง มีความคิดเปิดกว้าง มีความคิดสร้างสรรค์
          - หลายคนใน Gen-X มีแนวโน้มที่จะต่อต้านสังคม ไม่เชื่อเรื่องศาสนา และ ไม่ยึดขนบธรรมเนียมประเพณีมากนัก
          - เป็นคนที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวกับวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป อย่างเช่นมองว่าการอยู่ก่อนแต่ง หรือการหย่าร้างเป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับเรื่องเพศที่ 3 ซึ่งต่างจากกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่มองเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องผิดจารีตประเพณี เป็นอย่างยิ่ง

4. Generation Y (เกิดในช่วง พ.ศ. 2523–2540)

         ปัจจุบัน คนกลุ่มนี้อยู่ในทั้งช่วงวัยเรียน และวัยทำงาน คนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง และค่านิยมที่แตกต่างระหว่างรุ่นปู่ย่าตายาย กับ รุ่นพ่อแม่ แต่ก็รับเอาความเจริญรุดหน้าของเทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ตเข้ามาแทรกอยู่ในการดำรงชีวิตประจำวันด้วย ซึ่งเอกลักษณ์ของคนกลุ่มนี้ก็คือ
         - มักจะถูกตามใจตั้งแต่เด็ก ได้ในสิ่งที่คนรุ่นพ่อแม่ไม่ค่อยได้
         - มีการศึกษาดี
         - มีลักษณะนิสัยชอบการแสดงออก เป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ชอบถูกบังคับให้อยู่กรอบ ไม่ชอบอยู่ในเงื่อนไข
         - ชอบเสพข่าวสารผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่หลากหลาย
         - มีอิสระในความคิด กล้าซัก กล้าถามในทุกเรื่องที่ตัวเองสนใจ ไม่หวั่นกับคำวิจารณ์
         - มีความเป็นสากลมาก มองว่าการนิยมชมชอบวัฒนธรรม หรือศิลปินต่างชาติเป็นเรื่องธรรมดา
         - สามารถทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน เช่นนั่งเล่นเกมส์ไปด้วย คุยโทรศัพท์ไปด้วย แถมบางคนยังกินข้าวไปพร้อม ๆ กันด้วยอีกต่างหาก
         - มีความสามารถในการทำงานที่เกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร ชอบงานด้านไอที ใช้ความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่
         - มองโลกในแง่ดี มีใจช่วยเหลือสังคม รักษาสิ่งแวดล้อม มีความสัมพันธ์ที่ดีและแน่นแฟ้นกับพ่อแม่



5. Generation Z (เกิดหลัง พ.ศ. 2540 ขึ้นไป)

          Gen-Z คือ คำนิยามล่าสุดของคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน หมายถึงคนที่ เทียบ อายุแล้วก็คือวัยของเด็ก ๆ นั่นเอง สิ่งหนึ่งที่เด็กรุ่น Gen-Z แตกต่างจากรุ่นอื่น ๆ สมัยที่ยังเป็นเด็กอยู่ก็คือ เด็กรุ่นนี้จะ ได้เห็นภาพที่พ่อและแม่ต้องออกไปทำงานทั้งคู่ ต่างจากรุ่นก่อน ๆ ที่อาจจะมีพ่อออกไปทำงานคนเดียว ด้วยเหตุผลนี้ เด็ก Gen-Z หลาย ๆ คนจึงได้รับการเลี้ยงดูจากคนอื่นมากกว่าพ่อแม่ของตัวเอง และเติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่อยู่แวดล้อม เพราะพ่อแม่ใช้สิ่งเหล่านี้อยู่ในชีวิตประจำวัน พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ที่เด่นชัดมากก็คือ
          - มีความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ
          - เรียนรู้ได้เร็ว
          - เปิดกว้างทางความคิด วัฒนธรรมที่แตกต่าง ไม่แบ่งแยก  
          - มีแน้วโน้มเป็นมนุษย์หลายงาน เพราะมีความอดทนต่ำ
          - ต้องการคำอธิบายและเหตุผลกับเรื่องเกือบทุกเรื่องเพื่อให้รู้สึกว่าตนเองได้เข้าใจกับทุกเรื่องในชีวิต 

         ซึ่งคนในแต่ละช่วงวัย(เจนเนอเรชั่น) ต่างล้วนมีเอกลักษณ์ และพฤติกรรมที่แตกต่างกัน จึงทำให้การที่คนหลายๆวัยมาอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน แม้จะเป็นคนในครอบครัวเดียวกันก็มักจะเกิดข้อโต้แย้ง หรือมีปัญหาเกิดขึ้นบ้างในบ้างครั้ง

        ท้ายที่สุดด้วยปัจจุบันที่เราอยู่ในยุคการสื่อสารออนไลน์ จึงทำให้คนส่วนใหญ่เสพติดการเชื่อมต่อบนโลกออนไลน์ จนลืมสนใจคนที่อยู่ด้วยตรงหน้า แต่ครั้งนี้เราลองใช้ช่วงวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยการอยู่และพูดคุยกับคนในครอบครัวให้มากขึ้น เท่านี้ความต่างทางความคิด ที่เกิดจากความห่างของช่วงวัย ก็จะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไปครับ JJ

ความคิดเห็น